พื้นไม้เอ็นจิเนียร์
พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ หรือ Engineered Wood Flooring คือไม้ที่ทำการปรับคุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์ให้มีความเหมาะสมมากที่สุดทั้งทางด้านความคงทน และ ความสวยงาม จนไม่รู้ถึงความแตกต่างระหว่างไม้จริง (Solid Wood Flooring) กับไม้เอ็นจิเนียร์ เมื่อติดตั้งออกมา เนื่องจากผิวหน้าของไม้เอ็นจิเนียร์ก็คือไม้จริงนั่นเอง
ส่วนประกอบของไม้เอ็นจิเนียร์
1.ชั้นผิวหน้าไม้จริง เช่น ไม้โอ้ค ไม้แอช ไม้บีช ไม้มะค่า ไม้สัก ไม้เมเปิ้ล ไม้วอลนัท และ อื่นๆ อีกมากมายที่มีความหนา 3 มิลลิเมตร
2.ชั้นต่อมาเป็นไม้อัดกันชื้นนำมาซ้อนทับกันเป็นชั้นๆจะวางแบบสลับกันไปมาในแต่ละชั้น 7-9 ชั้น เพื่อลดการยืด หด บิด งอทำให้ไม้มีความคงตัวมากกว่าพื้นไม้จริงทั้งชิ้น และเพิ่มความแข็งแรงให้กับพื้นไม้เอ็นจิเนียร์
พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ควรติดตั้งบริเวรใด?
พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ (Engineered Woof Flooring) ก็เหมือน พื้นไม้จริง (Solid Wood Flooring) เป็นวัสดุตกแต่งภายในบ้าน ไม่เหมาะสมสำหรับการติดตั้งนอกบ้าน และ ไม่เหมาะกับห้องที่มีความชื้นมาก ตัวอย่างห้องต่างๆที่นิยมติดตั้งพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ เช่น ห้องนอน ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น ห้องออกกำลังกาย เหมาะสมกับทั้งงานบ้าน โรงแรม และ คอนโดมิเนียม โดยเฉพาะคอนโดที่ต้องการตกแต่งห้องให้สวยงาม น่าอยู่ และ มีกลิ่นอายของพื้นไม้จริง ที่มีลวดลายตามธรรมชาติ
ข้อดีไม้พื้นเอ็นจิเนียร์
- มีสีสัน ลวดลาย และชนิดเนื้อไม้ ให้เลือกอย่างหลากหลาย
- ให้บรรยากาศที่อบอุ่น เป็นธรรมชาติ
- หากชำรุดเสียหาย ก็สามารถเปลี่ยนเฉพาะแผ่นที่มีปัญหาได้ทันที
- เนื่องจากพื้นไม้เอ็นจิเนียร์นั้นได้ผ่านการทำสี และเคลือบผิวหน้าไม้มาแล้ว ในส่วนของการติดตั้งจึงสามารถทำได้ง่าย และรวดเร็ว เพราะไม่ต้องมีขั้นตอนของการขัดทำสี
- ทนต่อแรงกระแทก และทนต่อรอยขูดขีดได้ดี ซึ่งจะทนได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ผิวหน้าว่าเป็นไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้ออ่อน
- ให้ผิวสัมผัสที่เรียบ สบายเท้า เพราะไม้ผิวหน้าเป็นไม้ธรรมชาติ
- เดินแล้วรู้สึกแน่น ไม่มีเสียงแครก หรือ เสียงกลวง เพราะติดตั้งด้วยกาว
ข้อเสียไม้พื้นเอ็นจิเนียร์
- ในกรณีที่ใช้งานไปนานๆ แล้วอยากจะขัดทำสีใหม่นั้น จะมีข้อจำกัดที่ว่าสามารถทำได้ไม่เกิน 2 ครั้ง เนื่องจากไม้ผิวหน้าค่อนข้างบาง ผู้ใช้งานส่วนมากจึงนิยมเปลี่ยนแผ่นใหม่ หรือเปลี่ยนสีพื้นไปเลย
- ไม่ทนต่อน้ำ และความชื้น ถ้าแช่น้ำนานๆจะเกิดอาการบวม พอง
- มีราคาค่อนข้างแพง
การเตรียมพื้นก่อนปูพื้นไม้เอ็นจิเนียร์
ตรวจสอบพื้นคอนกรีตก่อนติดตั้งดังนี้
ระดับต่ำกว่าระดับพื้นสำเร็จ แล้วแต่กรณีว่าเป็นไม้มีความหนาเท่าไร ดังนี้
ไม้หนา 14mm + Subfloor 8mm + เผื่อ2mm = 24mm (±)1mm
ไม้หนา 15mm + Subfloor 8mm + เผื่อ2mm = 25mm (±)1mm
ไม้หนา 18mm + Subfloor 8mm + เผื่อ2mm = 28mm (±)1mm
โดยระดับที่จะต้องตรวจสอบอย่างเคร่งครัด คือ
เช็คระดับตามแนวขอบผนัง,เช็คระดับตามแนวธรณี,เช็คระดับตามแนวรอยต่อระหว่างไม้พื้นกับพื้นที่เป็นวัสดุอื่นๆ
ตรวจสอบความเป็นแอ่ง/นูนของพื้นคอนกรีต รัศมี 50 cm. ระดับไม่ควรต่างกันเกิน 3mm
ตรวจสอบพื้นที่โดยหากพื้นที่อยู่ในเกณฑ์ไม่ได้ระดับบ้าง(สมบูรณ์ประมาณ 70%) ก็จะเข้าทำการติดตั้งเลย (เพราะไม่มีงานพื้นปูนที่ทำงานได้ 100%) แต่หากพื้นที่ไม่ได้ระดับจะแจ้งให้ทางเจ้าของบ้านติดตามช่างปูนเข้าเก็บงาน และรอจนแห้ง และทางบริษัทฯคิดค่าใช้จ่ายในการเข้าตรวจเช็คหน้างานกรณีตรวจเช็คเกิน 1 ครั้ง ครั้งละ 2000 บาท เพื่อให้งานปูนรับผิดชอบก่อนส่งงานให้งานพื้นไม้
ความชื้นของคอนกรีต
ค่าความชื้นสัมพัทธ์ของคอนกรีตน้อยกว่า 10% หรือ มีทำการ Screeding มาแล้วเกินกว่า 7 วัน
ผิวหน้าปาดเรียบ ไม่จำเป็นต้องขัดมัน ,จะต้องไม่ร่อน และ แข็งแรงพอที่จะติด Subfloor (board) ด้วยตะปูและกาวได้
ก่อนที่จะติดตั้งพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ จะต้องเตรียมพื้นให้เรียบ ได้ระดับ และ แข็งแรง เช่น พื้นปูนขัดมัน หรือ ขัดหยาบที่เรียบ เนื้อปูนต้องแน่น ไม่หลุดร่อน ไม่เป็นแอ่ง หรือ โก่งนูน และไม่มีความชื้น นอกจากนั้น พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ ยังสามารถติดตั้งทับพื้นกระเบื้องเดิม หรือ พื้นแกรนิโตเดิม ที่ไม่เสียหาย (คือไม่แตก หลุด ร่อน) หรือ ติดตั้งทับ Smart Board หรือ พื้นไม้อัด ได้อีกด้วย
การติดตั้งไม้พื้นเอ็นจิเนียร์
การปูไม้พื้นเอ็นจิเนียร์ (แบบปู Sub Floor)
กรณีมีงานปูSubfloor โดยมาตรฐานของบริษัทใช้หนา8mm ขึ้นไป โดยสามารถเลือกใช้วัสดุอย่างอื่น ได้แก่ไม้อัด,Viva Board ,smile Board เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาวัสดุที่แตกต่างกันไปในช่วงนั้นๆ
วางP.E โฟม บนคอนกรีต ปูเหลื่อมกันเล็กน้อย เพื่อป้องกันความชื้นขึ้นจากคอนกรีต
วางไม้ Subfloor ขนาด 4’x4’ เว้น Gap โดยรอบไม้อัด 1 cm.
ตอกยึดด้วยตะปูคอนกรีตทุกระยะ 20-30 cm. หรือจนกว่าแน่นพอ
วางไม้อัดแถวต่อไปให้เหลื่อมกันทุกระยะครึ่งแผ่น (คล้ายลายก่ออิฐ)
กรณีพบว่าระดับพื้นคอนกรีตไม่ได้ระดับเล็กน้อยในช่วงรอยต่อต่างๆ
- คอนกรีตระดับสูงเกินเล็กน้อย – ขัด Subfloor ลงเล็กน้อยก่อนปูไม้พื้น (มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม)
- คอนกรีตระดับต่ำไปเล็กน้อย – พับโฟม เสริมให้ก่อนปูไม้พื้น (ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม)
การปูไม้พื้นเอ็นจิเนียร์ (แบบปูลอยตัว)
-วางโฟมหนา 2mm. ไปในแนวขวางกับแนวปูไม้พื้น ปูเหลื่อมกันเล็กน้อย หรือ ติดกาวแทนวางโฟม
-กำหนดตัวเริ่มต้น (เริ่มที่ธรณีประตูทางเข้า) และ แนวปู (ปูขนานหรือปูตั้งฉากกับธรณีประตู) แต่โดยปกติจะปูขนานไปกับธรณีประตู หรือ ขนานไปกับจมูกบันได
-นำไม้พื้นมาแผ่ (Dry Lay) และเน้นไล่โทนสี แต่ไม่สามารถต่อลายไม้หรือเลือกลายไม้ได้
-ลูกค้าเซ็นอนุมัติการปูจริงตามแบบการปู Dry Lay
-เริ่มปูที่ธรณีประตู เป็นแผ่นเต็ม ซึ่งอาจทำให้พื้นไม้แถวสุดท้าย เป็นเสี้ยวเล็ก เว้น 5mm – 10mm รอบห้อง เพื่อเผื่อให้พื้นไม้สามารถขยายตัวได้บ้าง แล้วปิด Gap ด้วยบัวพื้น หรือ ยาแนว ปูพื้นไม้ตามรูปแบบการ Dry Lay ที่ได้อนุมัติ ยึดด้วยตะปูไม่มีหัวทุกระยะ 15cm ที่ลิ้นเฉียงลงไปให้ถึงSubfloorและทากาวที่หลังพื้นไม้ทุกแผ่น ชิ้นไม้ที่ขอบห้องต้องมีขนาดยาวไม่น้อยกว่า 10 cm. (ลูกค้ารับผิดชอบเผื่อสูญเสียเอง) เมื่อปูเสร็จ เก็บโป้วรอยต่อไม้ระหว่างไม้กับวัสดุอื่น แต่ไม่เก็บรอยโป้วระหว่างพื้นไม้ด้วยกัน ซึ่งหลังจากปูแล้วจะมี Gap ห่างบ้างเล็กน้อย ซึ่งเป็นคุณลักษณะปกติของงาน Prefinished โดยเฉพาะพื้นไม้จริงทั้งชิ้น (Solid Flooring) ช่างผู้ติดตั้งจะต้องเว้น Gap ระหว่างพื้นไม้แต่ละแผ่น เผื่อให้พื้นไม้ขยายตัวหลังจากติดตั้ง (เนื่องจากพื้นไม้ได้ผ่านการอบไล่ความชื้นที่เหมาะสม คือ 8%-12% มาแล้ว ในขณะที่ความชื้นปกติโดยเฉลี่ยในไทยประมาณ 14%-15% และยังคงแตกต่างไปตามช่วงฤดู พื้นไม้จะยังคงปรับตัวบ้างหลังจากติดตั้งแล้ว)
ข้อดี ของการติดตั้งพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ในลักษณะนี้ คือ ติดตั้งง่าย ไม่ต้องใช้กาว ดั้งนั้นในอนาคตหากต้องการรื้อพื้นไม้ออก หรือต้องการซ่อมแซมก็สามารถทำได้โดยง่ายเช่นเดียวกัน หรือ กรณีที่เป็นการติดตั้งพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ทับพื้นหินขัดเดิม หรือ พื้นกระเบื้องเดิม ก็ไม่ทำให้พื้นเดิมเสียหายอีกด้วย
ข้อเสีย คือความรู้สึกเมื่อเดินบนพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ที่ติดตั้งแบบลอยตัวบนฟิล์มโฟมรองพื้นคือ ความรู้สึกตอนเดินอาจรู้สึกว่าไม่แน่นเท้า คล้ายกันกับเดินบนพื้นไม้ลามิเนต อีกทั้งอาจรู้สึกถึงความยวบของพื้นกรณีที่พื้นปูนไม่เรียบได้ระดับอีกด้วย
การปูไม้พื้นเอ็นจิเนียร์ (แบบปูกาว)
-การเตรียมพื้นผิวหน้าปู ต้องขัดมัน เตรียมไว้ล่วงหน้า
-ติดตั้งด้วยกาวบนพื้นซีเมนต์ (สามารถใช้กาวธรรมดา หรือ กาว PU ชนิดไร้ความชื้นติดตั้ง พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ได้) ซึ่งสำหรับวิธีการติดตั้งที่ต่างๆกันนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นหน้างาน ว่าเรียบได้ระดับเพียงใด โดยทีมช่างผู้ชำนาญจะเป็นผู้ประเมินว่าพื้นที่แต่ละแบบเหมาะสมกับการติดตั้งพื้นไม้เอ็นจิเนียร์
ข้อดี ของการติดตั้งพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ด้วนกาวโพลียูริเทนคือ ลดเสียงกระทบ และจะรู้สึก แน่นเท้าเวลาเดิน ความรู้สึกจะเหมือนเดิมบนปาร์เก้ไม้จริง หรือไม้จริง
ข้อเสีย ของการยึดพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ด้วยกาวพียู บนพื้นปูน พื้นไม้อัด หรือ พื้นกระเบื้อง คือ จะรื้อยาก เนื่องจากกาวมีคุณสมบัติยึดติดแน่นมาก และ ยืดหยุ่นสูงมาก
ติดตั้งบัวพื้น/ตัวจบธรณี (ไม้เนื้อแข็ง)
-บัวพื้น/ตัวจบธรณี จะทำสะหรือเคลือบสีสำเร็จจากโรงงาน
-ติดตั้งบัวพื้นตามแนวผนัง และ ตัวจบธรณีตามจุดที่ต้องการ ด้วยการยึดตะปูบนหน้าไม้ และทากาวติดบางส่วน
-หากจะต้องต่อไม้ จะบากไม้ 15 องศาด้านความหนาเพื่อให้ยึดได้ดีขึ้น
-ปลายบัวจบด้วยการตัดเก็บ 45 องศา
-เมื่อติดตั้งเสร็จ จะส่งหัวตะปู โป้ว และเก็บสีเที่ยวสุดท้ายทั้งหมด ด้วยการทาหน้างาน (ไม่พ่นเพราะสีจะกระจายไปติดวัสดุอื่นในบ้าน)
การดูแลรักษา
1.ทำความสะอาดประจำด้วยผ้าหมาด ไม่ควรใช้ผ้าหรือฟองน้ำที่เปียกโชกในการทำความสะอาด เพราะแม้พื้นไม้เอ็นจิเนียร์จะมีคุณสมบัติทนความชื้น แต่เมื่อพื้นเปียกก็ควรรีบเช็ดให้เร็วที่สุด เพียงใช้ฟองน้ำหรือผ้าชุบน้ำหมาดๆ มาทำความสะอาดพื้นเท่านั้น
2.ไม่ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาซักผ้า หรือผงซักฟอก เพราะน้ำยาสำหรับทำความสะอาดเหล่านี้ล้วนมีสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นเกรด สามารถทำให้พื้นไม้เสียหาย เป็นรอยด่าง หรือลอกได้ หากต้องการทำความสะอาดด้วยน้ำยาจริงๆ ควรเลือกใช้น้ำยาที่ใช้สำหรับพื้นไม้โดยเฉพาะ
3.หลีกเลี่ยงอุปกรณ์ทำความสะอาดที่มีหัวแหลม สามารถใช้เครื่องดูดฝุ่นหรืออุปกรณ์อื่นๆ ในการทำความสะอาดพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้คุณสมบัติที่ไม่มีหัวแหลม หรือส่วนคม ที่อาจทำให้พื้นถลอกได้